เวลาผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน นับแต่เพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว
ได้เลือกตั้งและประชุมสมัชชาใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวครั้งล่าสุด
รวมถึงได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
แต่ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างก็เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้ประชาชนรู้สึกว่า
รัฐบาลลาวเปลี่ยนไป ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีคนใหม่
นโยบายที่ประกาศอย่างชัดแจ้ง ฉับพลัน และรวดเร็วอย่างเต็มที่
คือนโยบายตามดำรัสนายกรัฐมนตรีที่ 15/2016 ที่สั่งห้ามการส่งออกไม้อย่างเด็ดขาด ให้ส่งออกได้เพียงแต่ผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐแล้วเท่านั้น
สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่ทั้งบริษัทรับสัมปทานค้าไม้ บริษัทส่งออกและแปรรูปไม้
รวมถึงพนักงานของรัฐทั่วทั้งประเทศ โดยแม้ว่าเมื่อแรก
ทุกคนจะมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นแค่ความพยายามสร้างภาพไฟแรงของรัฐบาลใหม่แต่หากผ่านเวลามาแล้วสามเดือน
การกวดขันนโยบายนี้ยิ่งเข้มงวดมากขึ้น
และได้มีคำสั่งเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้งปฏิบัติได้แข็งแรงขึ้น
จนทำให้การขนส่งไม้ออกนอกประเทศลาวลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ตามด้วยการเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาลผ่านสื่อเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียที่แพร่หลายขึ้น
มีการสร้างเพจสนับสนุนนายกรัฐมนตรี แจกแจงการทำงานของรัฐบาล
และกระจายข่าวสารไปยังเว็บเพจและเว็บไซต์อิสระของลาวต่าง ๆ เช่น โทละโข่ง (Tholakhong) อิดสะหละ (Issara) โดยนำเสนอการทำงานของภาครัฐในทุกภาคส่วน
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือการอภิปรายของสมาชิกสภาแห่งชาติ คัดเอาส่วนที่น่าสนใจเป็นคลิปมานำเสนอ
ในทางตรงข้าม
การกวดขันการแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียก็ถือว่าเข้มงวดและรุนแรงขึ้น
มีการจับกุมชายหนุ่ม 3 คน
ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อพรรครัฐ ในการทำเพจและเว็บไซต์ต่อต้านรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การจับกุมครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแต่การทำแค่เว็บไซต์หรือเพจต่อต้านเท่านั้น
แต่รวมไปถึงความพยายามในการเคลื่อนไหวนอกโซเชียลมีเดียเป็นต้นว่า
ชักธงช้างสามเศียรแห่งราชอาณาจักรลาวในเมืองใหญ่อย่างสะหวันนะเขต
หรือพยายามปลุกระดมจัดตั้งกลุ่มคนเพื่อก่อความไม่สงบอย่างจริงจังด้วยจึงถูกจับกุม
นอกจากนี้ ฯพณฯ ทองลุน ยังได้นำเสนอตัวเองว่าเป็นผู้นำยุคใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในระดับสากล
จากการที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน
และจบการศึกษาจากรัสเซีย ทำให้เชี่ยวชาญหลายภาษาทั้งลาว ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส
รัสเซีย เมื่อเดินทางไปเจรจาความเมืองยังต่างแดน ก็สามารถสนทนากับผู้นำต่างชาติได้อย่างคล่องแคล่วด้วยท่าทีสง่างามแตกต่างจากนายกฯ
ผู้อื่นในอดีตระยะใกล้
ถ้าจะย้อนไปถึงยุคที่ลาวมีผู้นำซึ่งสามารถเจรจาในเวทีโลกได้สง่าเทียบเท่ากันอาจจะต้องย้อนไปถึงยุคของท่านเสด็จเจ้าสุพานุวงเลยทีเดียว
รวมถึงนโยบายล่าสุดในการปฏิรูประบบจัดเก็บภาษี
ที่เข้มงวดกวดขันและเปลี่ยนจากระบบเจ้าภาษีเก็บเงินสดส่งคลังที่ส่อการคอร์รัปชั่นและรั่วไหลในอดีต
ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ของ สปป.ลาว ต่ำกว่าเป้า
งบประมาณขาดดุลและเกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณแก่พนักงานของรัฐมาโดยตลอด
ให้กลายเป็นระบบสั่งจ่ายผ่านธนาคารที่ดูจะโปร่งใสกว่า
ภาพรวมของนโยบายรัฐบาลท่านทองลุน
ดูเหมือนว่าจะเป็นการปิดจุดอ่อนหลักของประเทศลาว อันได้แก่
การทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางป่าไม้ ภาพลักษณ์การสื่อสารต่อสาธารณชน
ความทันสมัยและเข้ากับนานาชาติ และการคอร์รัปชั่นการจัดเก็บรายได้ของรัฐ
ภายในไม่กี่เดือน ประชาชนชาวลาวเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ
และผู้บริหาร ถึงกับยกย่องว่า ท่านทองลุนผู้นี้เป็น “นายกฯของประชาชน” ตัวจริง
อย่างไรก็ตาม เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ท่านทองลุน
จะเป็นทองแท้ที่มาลุน (มาทีหลัง) นำพาลาวให้พ้นจากความยากจนในเป้าหมายปี 2025 หรือจะถูกแรงเฉื่อยของระบบเดิมๆ จนไฟมอดไปก่อน
ความหวังอนาคตของลาวอยู่ในการนำพาของนายกฯ ทองลุนผู้นี้เอง
ผู้เขียน
|
ธีรภัทร เจริญสุข
|
ที่มา
|
คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง
มติชนรายวัน
|
เผยแพร่
|
6 ก.ค. 59
|